AAV ประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 และตลอดปี 2563
ทั้งปีขนส่งผู้โดยสาร 9.49 ล้านคน พร้อมอัตราขนส่งร้อยละ 75
ปรับตัวจากสถานการณ์โควิด-19 พร้อมหาโอกาสรายได้ใหม่ๆ สร้างเสถียรภาพธุรกิจ
กรุงเทพฯ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 - บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เผยผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดจากความต้องการเดินทางภายในประเทศที่สูงขึ้นในช่วงเทศกาล และมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวจากภาครัฐ โดย TAA กลับมาให้บริการเส้นทางภายในประเทศได้ถึงร้อยละ 107 ของปริมาณที่นั่งก่อนผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยขนส่งผู้โดยสาร 2.81 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 51 จากไตรมาสที่ 3 และมีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 74 โดยส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563
โดยไตรมาสที่ 4 AAV มีรายได้รวม 4,158.6 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุน 1,114.4 ล้านบาท จากผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์สิทธิการใช้ที่มูลค่าบัญชีสูงกว่ามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินทรัพย์จำนวน 1,416 ล้านบาท (หากไม่มีผลขาดทุนจากการทำสัญญาแลกเปลี่ยนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงล่วงหน้าที่จำนวน 799 ล้านบาท TAA จะมีผลการดำเนินงานก่อนจะหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเป็นบวก)
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเเละเดินทางจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการที่บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการการใช้เครื่องบินได้ถึงร้อยละ 70 และมีเเนวโน้มอัตราขนส่งผู้โดยสารดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายนมีอัตราขนส่งสูงเกือบร้อยละ 80 ก่อนที่จะได้รับผลกระทบอีกครั้งจากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่
“ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ทำให้เห็นว่า เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น บจ. ไทยแอร์เอเชีย พร้อมที่จะกลับมาคว้าโอกาสเสมอ รวมทั้งการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เข้ามาเสริม ทั้งบริการเดลิเวอรี่อาหารเเละเครื่องดื่ม การขนส่งคาร์โก เเละการปรับให้ airasia.com ให้เป็นมากกว่าผู้ให้บริการจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน เเต่ครอบคลุมสินค้าเเละบริการตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์มากขึ้น” นายสันติสุขกล่าว
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาผลประกอบการตลอดปี 2563 พบว่า TAA ขนส่งผู้โดยสารได้ 9.49 ล้านคน ด้วยอัตราขนส่งผู้โดยสารตลอดปีที่ร้อยละ 75 เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดย AAV มีรายได้รวม 16,237.3 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุน 4,764.1 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ตลอดปี ที่สายการบินจำเป็นต้องหยุดบินชั่วคราวทุกเส้นทางในช่วงเดือนเมษายน และจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ในการปรับลดเเละเพิ่มเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางอยู่ตลอด ควบคู่การรักษาสภาพคล่องและผลประกอบการทางธุรกิจ
เเม้ว่า TAA จะเผชิญกับสถานการณ์วิกฤต แต่เราก็ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาเเละขยายฐานลูกค้า โดยเปิดฐานปฏิบัติการการบินใหม่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเมื่อรวมกับการให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ทำให้ TAA เป็นสายการบินเดียวที่ให้บริการบินเข้าออกกรุงเทพฯ สะดวกได้ทั้ง 2 ท่าอากาศยาน เสริมความเเข็งเเกร่งเเละตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดในประเทศ อีกทั้งนี้ TAA ได้ใช้แผนบริหารจัดการต้นทุน โดยลดค่าจ้างพนักงานตามนโยบายขอความร่วมมือให้พนักงานใช้สิทธิการลาโดยไม่รับค่าจ้างในระยะสั้นและระยะยาว เช่นเดียวกันกับค่าบริการในสนามบินและลานจอดจากส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Charge) ค่าบริการที่จอดอากาศยาน (Parking Charge) และค่าบริการการเดินอากาศ (Air Navigation Charge) ทั้งนี้การลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องในปี 2564 อีกด้วย
“เรายังเชื่อมั่นว่าในปี 2564 เมื่อสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลาย เเละมีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวเเละธุรกิจการบินตามลำดับ รวมทั้งเส้นทางระหว่างประเทศที่น่าจะเริ่มกลับมาให้บริการได้ในช่วงปลายปี ซึ่ง TAA มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในสนับสนุนเดินทางและท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่มาตรฐานบริการด้านสุขอนามัยที่เข้มข้นเหมือนเดิม นอกจากนี้เรายังมุ่งเน้นการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด อีกทั้งขยายโอกาสธุรกิจด้านโลจิสติกส์เพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนของการขนส่งสินค้าทางอากาศ พร้อมสนับสนุนการขนส่งวัคซีนทางอากาศทั้งในประเทศและภูมิภาค ทั้งนี้เราอยู่ระหว่างการพิจารณาหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องของบริษัท ซึ่งเป็นไปได้หลายตัวเลือก เช่น ซอฟต์โลน การกู้ยืม หรือ การเพิ่มทุน” นายสันติสุขกล่าว