AAV ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563
ขนส่งผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสารร้อยละ 84
กรุงเทพฯ วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 - บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 9,399 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19 จากช่วงเดียวของปีก่อนและมีผลขาดทุนสุทธิ 671 ล้านบาท โดยมีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 4.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนร้อยละ 23 และมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 84 สอดคล้องกับผลกระทบจากมาตรการจำกัดด้านการเดินทางและความต้องการเดินทางที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)
โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับเส้นทางบินและปรับแผนปริมาณที่นั่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำการบินและสอดคล้องกับความต้องการเดินทาง รวมถึงลดความถี่และยกเลิกเส้นทางบินในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาด ส่งผลให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารอยู่ที่ 4,834 ล้านที่นั่ง ลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ในช่วงปลายไตรมาส 1 ของปี 2563 เป็นต้นมา ภาคบริการรวมทั้งแอร์เอเชียได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อยอดการเดินทางของผู้คนจำนวนมาก โดยแต่ละประเทศได้ออกมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ TAA จำเป็นต้องประกาศหยุดบินชั่วคราวในเส้นทางบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2563 สอดคล้องกับประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) และประกาศหยุดบินชั่วคราวในเส้นทางบินภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 - 30 เมษายน 2563
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ TAA ได้เริ่มกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ในเส้นทางหลักๆ หลังจากเริ่มมีสัญญาณและผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทั้งนี้การให้บริการดังกล่าวอยู่ภายใต้มาตรฐานสุขอนามัยและกำกับดูแลโดย CAAT โดยการเดินทางในช่วงแรกยังเป็นการเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ที่จำเป็น เช่น การทำธุรกิจ ทำงาน กลับภูมิลำเนา ยังไม่ใช่การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว ขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าจะกลับมาให้บริการได้ในไม่ช้าเมื่อแต่ละประเทศประกาศผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางมากขึ้น
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้วางแผนและปรับแผนตามสถานการณ์ โดยเฉพาะการบริหารจัดการต้นทุน ทั้งการปรับโครงสร้างการป้องความเสี่ยงน้ำมันเชื้อเพลิงล่วงหน้าบางส่วนและอยู่ระหว่างเจรจาในส่วนที่เหลือ ซึ่งจะชะลอผลขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงหากราคาน้ำมันยังอยู่ ณ ระดับปัจจุบัน อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงและพนักงานระดับอาวุโสของบริษัทสมัครใจรับเงินเดือนที่ลดลงตามระดับตำแหน่ง รวมทั้งบริษัทยังเตรียมความพร้อมหาเงินทุนสำรอง ผ่านการกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) กับรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการทบทวนแผนการลงทุนให้รัดกุมมากที่สุด โดยอาจระงับหรือชะลอการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง อีกทั้งพิจารณาระงับการจัดหาเครื่องบินเพิ่มในปีนี้ เพื่อให้มีจำนวนฝูงบินที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
“เราพยายามบริหารจัดการทุกอย่างให้ดีที่สุดในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น ในเวลาเดียวกันเราก็ไม่หยุดนิ่ง ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนามาตรฐานการให้บริการผู้โดยสารที่ดีขึ้น โดยเฉพาะมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย รวมทั้งนวัตกรรมที่จะนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือแม้แต่การสร้างรายได้ใหม่ๆ เช่น บริการจำหน่ายอาหาร AirAsia Delivery ส่งถึงบ้านทั้งชานมไข่มุกบุก หรืออาหารคาวหวานยอดนิยม ซึ่งเรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสภายใต้วิกฤตที่เกิดขึ้น และเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นไป เราจะกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง” นายสันติสุข กล่าว
สำหรับตลอดปี 2563 บริษัทจะปรับลดเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารมาอยู่ที่ 11 ล้านคน ลดลงร้อยละ 51 จากปีก่อน โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสารลดลงอยู่ที่ร้อยละ 80 หรือลดลง 5 จุด และเรายังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังหากมีการผ่อนปรนมาตรการและข้อกำหนดด้านการเดินทางมากขึ้น อาจจะเริ่มเห็นการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในตลาดจีน ซึ่งประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่ง เราจึงต้องเตรียมความพร้อมทุกอย่างให้ดีที่สุดเมื่อโอกาสมาถึงอีกครั้ง