แอร์เอเชียเผยผลประกอบการไตรมาส 4 และตลอดปี 2562 ทั้งปีขนส่งผู้โดยสารรวม 22.15 ล้านคน เติบโตร้อยละ 3 มีอัตราการขนส่งผู้โดยสารร้อยละ 85 พร้อมรับเครื่องบินใหม่ A321 นีโอ 2 ลำ
กรุงเทพ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 - บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เผยผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2562 มีรายได้รวมอยู่ที่ 10,334 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 72 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 73 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภาพรวม สำหรับจำนวนขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 5.42 ล้านคน ปรับตัวลดลงร้อยละ 1 สอดคล้องกับการปรับลดปริมาณที่นั่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 86 เท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ได้เปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่จากเชียงรายสู่หางโจว ประเทศจีน พร้อมรับมอบเครื่องบินใหม่รุ่นแอร์บัส A321 นีโอจำนวน 2 ลำ และปลดประจำการเครื่องบินแอร์บัส A320 1 ลำ ในระหว่างไตรมาส ทำให้บริษัทมีฝูงบินจำนวนทั้งสิ้น 63 ลำ ณ สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2562
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปี 2562 ได้รับผลกระทบหลักมาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวมทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น เหตุการณ์การประท้วงที่ฮ่องกง การแข็งค่าของค่าเงินบาทรวมถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดความต้องการเดินทางน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ เมื่อสรุปรวมทั้งปี 2562 AAV มีรายได้รวม 41,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และมีขาดทุนสุทธิ 474 ล้านบาท ในขณะที่ TAA มีรายได้รวม 41,551 ล้านบาท และมีขาดทุนสุทธิ 871 ล้านบาท มีจำนวนการขนส่งผู้โดยสารรวม 22.15 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 85 เท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลอดทั้งปีได้เปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ระยะทางการบินโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 8
นอกจากนี้ นายสันติสุขยังกล่าวว่า “เราเริ่มต้นปี 2563 ด้วยความท้าทายจากการระบาดอย่างรุนแรงของ pCOVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจในภาพรวม โดยเฉพาะจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง จึงมีความจำเป็นต้องปรับลดหรือยกเลิกเที่ยวบินต่างๆ โดยเรายังคงยึดมั่นในมาตรฐานด้านความปลอดภัยเเละสาธารณสุขอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทาง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับการลดภาษีสรรพสามิต พร้อมดำเนินงานเชิงรุกของเราในการจัดการสถานการณ์ด้วยมาตรการลดค่าใช้จ่ายอย่างจริงจัง เช่น การต่อรองค่าใช้จ่ายหลักในการดำเนินการกับคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจของเรา รวมถึงเลื่อนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และด้วยความร่วมเเรงร่วมใจกันของพนักงานทุกคน เราเชื่อว่าเราจะฟื้นตัวในไม่ช้าและแข็งแกร่งขึ้น”
“กลยุทธ์สำคัญคือการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกมิติ โดยเน้นการวางแผนเส้นทางบิน ซึ่งในปีที่ผ่านมา เราจำเป็นต้องยกเลิกเเละลดความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินที่ยังไม่ทำกำไร รวมทั้งกระตุ้นการเดินทางในตลาดอื่นๆ ที่สามารถสร้างโอกาสได้ อาทิ ตลาดอินโดจีน เส้นทางภายในประเทศที่ไม่มีคู่เเข่งหรือคู่เเข่งน้อยราย รวมทั้งโอกาสจากบริการเสริมพิเศษต่างๆ ที่ยังเติบโตได้” นายสันติสุขกล่าว