แอร์เอเชียปรับฝูงบินแก้สัญญารับเครื่องบิน A321neo ใหม่ทั้งหมดจากแอร์บัส พร้อมรับการเติบโตของการบิน ด้วยจำนวนที่นั่งที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนลดลง
กรุงเทพฯ วันที่ 6 ตุลาคม 2564 - กลุ่มแอร์เอเชีย (“กลุ่ม”) พร้อมปรับฝูงบิน จากเครื่องบิน A320 ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เป็นเครื่องบิน A321neo ที่มีจำนวนที่นั่งมากกว่าและประหยัดพลังงาน โดยได้ลงนามข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมกับ Airbus SAS (“Airbus”) ซึ่งแอร์เอเชียจะดำเนินการเปลี่ยนคำสั่งซื้อเครื่องบิน A320 ที่เหลือ และที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการส่งมอบ เป็น A321neo ทั้งหมด
สัญญาดังกล่าวแสดงถึงความมุ่งมั่นของแอร์เอเชียในการซื้อเครื่องบินรุ่นที่ใหญ่ที่สุดในตระกูล A320 ที่ขายดีและได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเครื่องบินโมเดลดังกล่าวสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 236 คนในชั้นโดยสารเดียว ทั้งนี้เครื่องบิน A321neo จะช่วยให้สายการบินได้ประโยชน์จากการขนส่งผู้โดยสารต่อเที่ยวบินได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีต้นทุนด้านเชื้อเพลิงที่ลดลง ซึ่งเครื่องบินรุ่นดังกล่าวมีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำที่สุดในบรรดาเครื่องบินประเภททางเดินเดียว อีกทั้งยังมีห้องโดยสารแบบ Space-Flex ของแอร์บัส ที่ทำให้การใช้พื้นที่ห้องโดยสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น มอบความสะดวกสบายและประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้โดยสาร
ด้วยข้อตกลงดังกล่าว แอร์เอเชียได้แก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนคำสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A320 ที่ยังไม่ได้ส่งมอบจำนวน 13 ลำที่เหลือให้เป็นเครื่องบินแบบ A321neo ซึ่ง่จะทำให้แอร์เอเชียมีคำสั่งซื้อเครื่องบิน A321neo รวมทั้งสิ้นเป็น 362 ลำ โดยจะจัดสรรให้กับสายการบินต่างๆ ในกลุ่มตามความต้องการภายในกรอบระยะเวลาจนถึงปี 2578 และเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างแอร์เอเชียและแอร์บัส ทั้งนี้แอร์เอเชียได้รับเครื่องบินแบบ A321neo ลำแรกในเดือนพฤศจิกายน 2562 ปัจจุบันแอร์เอเชียมีเครื่องบินแบบ A321neo ให้บริการทั้งหมด 4 ลำ โดยในปัจจุบันกลุ่มแอร์เอเชียมีเครื่องบินประจำการในฝูงบินทั้งหมด 211 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบิน A320 จำนวน 169 ลำ เครื่องบิน A320neo 38 ลำ และเครื่องบิน A321neo 4 ลำ
นายโบ ลินกัม ประธานบริหาร (ธุรกิจสายการบิน) กลุ่มแอร์เอเชีย กล่าวว่า เครือข่ายการให้บริการของสายการบินและกลยุทธ์การบริหารจัดการฝูงบินของแอร์เอเชียได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้แน่ใจว่าในทุกๆ เส้นทางบินที่เราเปิดให้บริการจะได้รับความนิยมและให้ผลกำไรสูงสุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาให้บริการอีกครั้ง โมเดลธุรกิจของเรามีความแข็งแกร่งและพร้อมเสมอสำหรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่จะเพิ่มมากขึ้นหลังจากเปิดให้บริการ เรามั่นใจว่าสายการบินของเราจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและกลับมาแข็งแกร่งทันทีที่ข้อจำกัดการเดินทางได้รับการผ่อนปรน
“แอร์เอเชียและแอร์บัสได้ปรึกษาหารือและติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิดมาตลอด และด้วยข้อตกลงใหม่นี้จะทำให้แอร์เอเชียแข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากปัจจัยว่าด้วยฐานต้นทุนที่ต่ำที่สุด เครื่องบิน A321neo จะปฏิวัติประสบการณ์การบินให้ผู้โดยสารในช่วงที่เราเร่งธุรกิจของเราเพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางทางอากาศที่จะกลับมาหลังภาวะโควิด-19 โดยเครื่องบินแบบ A321neo ถือเป็นโมเดลที่อยู่ในระดับสูงสุดของอากาศยานประเภทเดียวกัน และจะช่วยให้แอร์เอเชียสามารถตอบสนองความต้องการทั่วทั้งเครือข่ายของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่า 10% นอกจากนี้ A321neo ยังมีที่นั่งเพิ่มอีก 50 ที่นั่งและพื้นที่เก็บสัมภาระเพิ่มเติม และจะช่วยให้เราสามารถลดต้นทุนต่อจำนวนที่นั่งที่มีอยู่ (ASK) ทั่วทั้งกลุ่มได้ ซึ่งจะส่งผลให้สายการบินสามารถบริหารจัดการค่าโดยสารที่ถูกยิ่งขึ้นสำหรับผู้โดยสารของเรา” นายโบ ลินกัม กล่าว
ขณะเดียวกัน การใช้เครื่องบินแบบ A321neo จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งการประหยัดเชื้อเพลิง จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้น้อยลงประมาณ 5,000 ตันต่อเครื่องบิน 1 ลำต่อปี อีกทั้งยังลดไนโตรเจนออกไซด์ลงได้เป็นเลขสองหลัก (NOx) รวมไปถึงลดอัตราการปล่อยมลพิษและลดเสียงรบกวนของเครื่องยนต์
นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มแอร์เอเชีย กล่าวว่า ด้วยการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการให้บริการขนส่งสินค้าในตลาดหลักทั้งหมดของเรา เราจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าฝูงบินของเราสามารถบริหารจัดการต้นทุนและเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการดำเนินงานของสายการบินรวมถึงการขนส่งสินค้าของเทเลพอร์ต ในปัจจุบันเทเลพอร์ตมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับความต้องการขนส่งทางอากาศและบริการขนส่งสินค้า ซึ่งเราอยู่ระหว่างการขยายขีดความสามารถในการขนส่งสินค้ารูปแบบดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมรับการขยายตัวในภูมิภาคทันทีที่ข้อจำกัดการเดินทางผ่อนคลายลงและเปิดพรมแดนระหว่างประเทศอีกครั้ง
“ในช่วงที่สายการบินหยุดให้บริการ เราได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาแอร์เอเชียจากหนึ่งในแบรนด์สายการบินชั้นนำของเอเชียให้เป็นแพลตฟอร์มการเดินทางดิจิทัลแบบครบวงจรสำหรับการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ ซึ่งจะมีแหล่งรวมการให้บริการที่มากกว่าการเดินทางทางอากาศ ด้วยจำนวนผู้โดยสารจำนวนมากของเราและความต้องการการเดินทางที่กำลังเพิ่มขึ้นจะช่วยส่งเสริมแอพ airasia Super App รวมถึงบริการทางการเงินฟินเทค และการชำระเงินดิจิทัล BigPay ให้เติบโตขึ้นไป” นายโทนี่ กล่าว
สำหรับ Super App, เทเลพอร์ต และ BigPay มีส่วนสำคัญเท่าๆ กัน ในการทำให้ระบบนิเวศทางธุรกิจของเราสมบูรณ์และครบวงจร ซึ่งแต่ละหน่วยทำงานสอดประสานกันโดยมีจุดร่วมกันคือเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดอีคอมเมิร์ซและพื้นที่การจัดจำหน่าย BigPay ประสบความสำเร็จในการจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายมาให้บริการ ทั้งอัตราค่าเงินอิเล็กทรอนิกส์และการโอนเงินระหว่างประเทศ ไปจนถึงการประกันภัยขนาดเล็กและการจัดทำงบประมาณ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินของลูกค้า โดยเราจะเดินหน้าสร้างสรรค์และปรับตัวต่อไป เพราะได้เริ่มเห็นผลที่ดีขึ้นทั้งในแง่ของฐานลูกค้าและรายได้ เราพร้อมที่จะกลับมาแข็งแกร่งและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในโลกหลังโควิด
นายคริสเตียน เชอร์เรอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ของแอร์บัส กล่าวว่า แอร์บัสยินดีที่ได้บรรลุข้อตกลงดังกล่าวกับแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน เครื่องบิน A321neo ถือเป็นเครื่องบินทางเดินเดี่ยวที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างให้ทุกคนได้เห็นว่าแอร์บัสได้ทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างไรในการร่วมกันหาทางปรับตัวรับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ ซึ่งแอร์บัสเห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของการจราจรทั่วโลกเมื่อข้อจำกัดการเดินทางที่ผ่อนคลาย และแอร์เอเชียจะได้ประโยชน์จากฝูงบินแอร์บัส และตราสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อรับการฟื้นตัวเช่นเดียวกัน