AAV เผยผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2566 กำไรสุทธิ 2,813.6 ล้านบาท ตลอดปีขนส่งผู้โดยสาร 18.9 ล้านคน เติบโตร้อยละ 90 เทียบกับปีก่อน
กรุงเทพ 23 กุมภาพันธ์ 2567 - บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (“AAV”) ผู้ถือหุ้นทั้งหมดใน บจ. ไทยแอร์เอเชีย (“TAA”) เผยผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2566 รายได้จากการขายและให้บริการอยู่ที่ 12,457.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (“EBITDA”) อยู่ที่ 3,085.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 89 และรายงานกำไรสุทธิ 2,813.6 ล้านบาท* โดยขนส่งผู้โดยสาร 5.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 อัตราขนส่งผู้โดยสารสูงถึงร้อยละ 90 โดยเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2562 (ช่วงก่อนโควิด-19) ปริมาณที่นั่งที่ให้บริการภายในประเทศฟื้นตัวกลับมาแล้วกว่าร้อยละ 94 ส่วนปริมาณที่นั่งที่ให้บริการระหว่างประเทศฟื้นตัวร้อยละ 84 ตอกย้ำทิศทางบวกต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบิน
สำหรับผลประกอบการตลอดปี 2566 AAV มีรายได้จากการขายและให้บริการอยู่ที่ 41,241.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 135 เทียบกับปีก่อน โดยมี EBITDA อยู่ที่ 7,032.4 ล้านบาท และรายงานกำไรสุทธิ 465.8 ล้านบาท** พลิกจากขาดทุน (8,214.4) ล้านบาทในปีก่อน โดยขนส่งผู้โดยสารตลอดปี 18.9 ล้านคน เติบโตถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับปีก่อน อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 90 และสัดส่วนผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 63 ต่อ 37
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ตลอดปี 2566 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัวคึกคัก โดยบรรลุเป้าหมายในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวน 28 ล้านคน หนุนจากการเปิดพรมแดนของประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศหลักประเทศสุดท้าย และสภาพเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน มีโครงการสนับสนุนต่อเนื่อง อาทิ การยกเว้นวีซ่าประเทศต่างๆ การปรับปรุงกระบวนการภายในสนามบินให้คล่องตัวพร้อมรับนักท่องเที่ยว ในขณะที่มีเเคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจการบินฟื้นตัวได้อย่างดี
“ในไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงไฮซีซั่นที่เห็นภาพการท่องเที่ยวที่คึกคักชัดเจน โดยเฉพาะตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในเดือนธันวาคมไทยแอร์เอเชียเพิ่มเที่ยวบินจากทั่วทุกภาคเข้าสู่เมืองเชียงใหม่กว่าสัปดาห์ละ 200 เที่ยวบิน เช่นเดียวกับจังหวัดภูเก็ต ที่เพิ่มเที่ยวบินให้บริการกว่าสัปดาห์ละ 144 เที่ยวบิน สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ เราได้เปิดเส้นทางบินใหม่ คือ จากดอนเมืองสู่กูวาฮาติและอัห์มดาบาด ประเทศอินเดีย รวมถึงกลับมาให้บริการเส้นทางดอนเมือง-ซัวเถาอีกครั้ง ทั้งนี้ ต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเเละจีนได้ลงนามความตกลงยกเว้นวีซ่าระหว่างกัน โดยจะมีผลตั้งเเต่วันที่ 1 มีนาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะไทยแอร์เอเชียที่มีเส้นทางบินสู่จีนมากที่สุด ซึ่ง ณ เดือนกุมภาพันธ์นี้ให้บริการรวมกว่า 103 เที่ยวบินต่อสัปดาห์” นายสันติสุขกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2567 มองว่าจะเป็นปีที่ดีของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดเส้นทางระหว่างประเทศ การกลับมาของตลาดจีน เเละเส้นทางบินใหม่ๆ ที่ไทยแอร์เอเชียเปิดให้บริการเเล้ว อาทิ จากดอนเมืองสู่เซี่ยงไฮ้ เกาสง เเละล่าสุด โอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชีย คาดจะขนส่งผู้โดยสาร 20-21 ล้านคนในปี 2567 โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสารใกล้เคียงร้อยละ 90 ตั้งเป้ารายได้จากการขายและบริการเติบโตร้อยละ 20-23 จากปี 2566 และขยายฝูงบินเป็น 60 ลำภายในสิ้นปี ส่วนด้านการบริหารต้นทุน ยังคงเน้นย้ำถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการบินเพื่อชดเชยกับต้นทุนที่เกี่ยวกับเครื่องบินและสนามบินที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทเชื่อมั่นว่าในปี 2567 จะสามารถสร้างผลกำไรจากการทำการบินได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเสริมให้สถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น และสามารถดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะต่อพนักงาน นักลงทุน ผู้โดยสาร และชุมชน
นอกจากนั้น ไทยแอร์เอเชียยังให้ความสำคัญกับ “ความตรงต่อเวลา” ซึ่งถือเป็นคุณภาพบริการที่สร้างความเเตกต่างและเป็นปัจจัยอันดับเเรกๆ ที่ทำให้ผู้โดยสารเลือกเดินทางกับไทยแอร์เอเชีย โดยปี 2566 ไทยแอร์เอเชียยังคงเป็นสายการบินที่มีสถิติความตรงต่อเวลาสูงที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 3 ในเอเชียแปซิฟิกจากการจัดอันดับของ Cirium พร้อมมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาสู่การเป็นสายการบินที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งเเวดลัอม โดยเฉพาะโครงการลดการปล่อยคาร์บอนผ่านกระบวนการบินที่ประหยัดพลังงานเเละแผนการนำฝูงบินใหม่ แอร์บัส เอ 321 นีโอ เข้าประจำการฝูงบินต่อไป
*กำไร/(ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนไตรมาส 4/2565 เท่ากับ 3,712 ล้านบาท และไตรมาส 4/2566 เท่ากับ 2,314 ล้านบาท
**กำไร/(ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนปี 2565 เท่ากับ (1,362) ล้านบาท และปี 2566 เท่ากับ 672 ล้านบาท